วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

มวยไทยโบราณ




คำกล่าวที่ว่า "หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา'" แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของมวยไทยจากสำนักหรือ "สาย" ต่างๆกล่าวคือ

"มวยโคราช" มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะชาวไทยมีการฝึกการต่อสู้ด้วยอาวุธสั้นประกอบกับศิลปะมวยไทย
โดยมีเป้าหมายในการปกป้องประเทศชาติ อีกทั้งโคราชเป็นเมืองหน้าด่านชั้นเอกที่ต้องทำการรบกับผู้รุกรานอยู่เสมอ จึงทำให้ชาวโคราชมีความเป็นนักสู้โดยสายเลือดมาหลายชั่วอายุคน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับว่าเป็นห้วงเวลาที่มวยคาดเชือกรุ่งเรือง มีการจัดแข่งขันมวยคาดเชือกหน้าพระที่นั่ง ณ บริเวณหน้าพลับพลา
ทรงธรรม สวนมิสกวัน ในงานพระศพของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช วันที่ 18 มีนาคม ร.ศ.128 (พ.ศ. 2452) มีนักมวยฝีมือดีชนะคู่ต่อสู้
หลายคนเป็นที่พอพระราชหฤทัยทรงโปรดฯ พระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ เป็น "ขุนหมื่นครูมวย" ถือศักดินา 300 จำนวน 3 คน คือ นายปรง จำนงทอง
จากเมืองไชยา เป็น "หมื่นมวยมีชื่อ" นายกลึง โตสะอาด จากเมืองลพบุรี เป็น "หมื่นมือแม่นหมัด" และนายแดง ไทยประเสริฐนักมวยจากเมืองโคราช เป็น "หมื่นชงัดเชิงชก

" เอกลักษณ์ของมวยไทยโคราชที่พิเศษที่แตกต่างไปจากมวยภาคอื่นๆ คือการคาดเชือกตั้งแต่หมัดขึ้นไปจรดข้อศอก เพราะทางมวยไทยโคราชเป็นมวยต่อย มี "หมัดเหวี่ยงควาย" เป็นอาวุธสำคัญร่วมกับการเตะวงกว้าง

"มวยลพบุรี" เป็นอีกสายของมวยไทย จ่าสิบเอกสมนึก ไตรสุทธิ ผู้ทรงคุณวุฒิมวยลพบุรีบันทึกว่า มวยลพบุรีมีประวัติความเป็นมายาวนาน ย้อนกลับไปได้
ถึงยุคกำเนิดอาณาจักรทวาราวดีลพบุรี "เขาสมอคอน" ซึ่งทอดตัวเป็นแนวยาวจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตกในพื้นที่ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัด
ลพบุรีในปัจจุบันนั้น เคยเป็นที่ตั้งของสำนักศิลปะวิทยาการต่างๆ รวมทั้งวิชามวยมาตั้งแต่ราวปีพ.ศ.1200

มวยลพบุรีเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้ทรงส่งเสริมมวยลพบุรีอย่างกว้างขวางทั้งการจัดแข่งขันและการวางกติกา ต่อมาในสมัย
พระเจ้าเสือ ทรงสนับสนุนมวยไทย และทรงชอบการชกมวยถึงขั้นปลอมพระองค์ไปแข่งขันชกมวยกับชาวบ้าน มวยลพบุรี เป็นมวยที่ชกฉลาด รุกรับแคล่วคล่อง
ว่องไว ต่อยหมัดตรงได้แม่นยำ มีลักษณะการชกที่เรียกว่า "มวยเกี้ยว" หมายถึงมวยที่ใช้ชั้นเชิงกลลวงต่างๆ เข้าทำคู่ต่อสู้ หลอกล่อ หลบหลีกได้ดี สายตาดี รุกรับ ออกอาวุธได้อย่างรวดเร็ว

การแต่งกายของมวยลพบุรีมีเอกลักษณ์ที่การพันมือครึ่งแขน และที่สำคัญมีการพันคาดข้อเท้าซึ่งพบเห็นเฉพาะในมวยลพบุรีเท่านั้น นักมวยลพบุรีมักนุ่งกางเกงสีกรมท่า
มีการคาดผ้าสามเหลี่ยมหรือกระจับอ่อนป้องกันจุดสำคัญ "ไม้มวย" หรือกระบวนท่าของลพบุรี มีชื่อเรียกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องรามเกียรติ์และตำนานการสร้างเมืองลพบุรี ชื่อสัตว์ต่างๆ รวมถึงชื่อเทพและฤาษีอีกด้วย

อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งกำเนิดของ "มวยไชยา" อาจารย์กฤดากร สดประเสริฐ ครูมวยแห่งบ้านช่างไทย ระบุว่า มวยไชยามีที่มาจาก "พ่อท่านมา"
อดีตนักรบแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาท่านเบื่อหน่ายทางโลกจึงได้บวชเป็นพระสงฆ์แล้วธุดงค์ลงไปทางใต้ และได้ปราบช้างเกเรที่ทำลายเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน
จนได้รับสมญาว่า "พ่อท่านมา วัดทุ่งจับช้าง" ท่านได้สั่งสอนศีลธรรมให้กับประชาชน รวมถึงได้ถ่ายทอดวิชา "มวยไชยา"

"มวยไชยา" เป็นศาสตร์มวยที่มากด้วยความระมัดระวังและความอ่อนน้อมถ่อมตน นอกจากนี้ยังสามารถแปรความรุนแรงของคู่ต่อสู้มาใช้ประโยชน์ และสะท้อนแรงให้กลับ
ไปกระทำกับฝ่ายที่โจมตีเข้ามานั่นเอง

ส่วน "มวยท่าเสาและพระยาพิชัยดาบหัก" นั้น รศ.ดร.สมพร แสงชัย อธิบายว่า ได้ชื่อมาจากพระยาพิชัยดาบหัก อดีตเจ้าเมืองอุตรดิตถ์นั่นเอง มวยสายนี้พระยาพิชัยดาบหักได้
ผสมผสานศาสตร์มวยจีน มวยไทย และดาบไทยเข้าด้วยกัน เน้นการต่อสู้ที่หลีกเลี่ยงการเจ็บตัวโดยอาศัยความว่องไว กลยุทธ์มวยพระยาพิชัยดาบหักแบ่งเป็นแนว "แข็ง" ที่
เข้าต่อสู้ตรงด้านหน้าของฝ่ายตรงข้าม กับแนว "อ่อน" ที่ไม่เข้าต่อสู้ด้านหน้าโดยตรง 
                                                        มวยไทยไชยา








                                                           มวยไทย-จีน ท่าเสา









                                                                   มวยไทยโคราช














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น